ไก่งวง

ไก่งวง สัตว์เลี้ยงทางเลือก
สำหรับคนไทย “ไก่งวง” อาจจะเป็นสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยนัก ทั้งรูปร่างหน้าตาที่แปลก ขนาดตัวใหญ่กว่าไก่ปกติทั่วไป แต่ปัจจุบันไก่งวงเริ่มมีการเลี้ยงแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสานถือว่าเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งในภาคกลางยังมีผู้เลี้ยงอีกหลายจังหวัด ได้แก่ สระบุรี ปราจีนบุรี รวมทั้งราชบุรีที่เรามาในครั้งนี้ด้วย
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก วิธีการเลี้ยงไก่งวงแบบอินทรีย์ กัน
จุดเริ่มต้นเลี้ยง ไก่งวง
เดิมที่คุณปูเลี้ยงสัตว์อยู่แล้วหลายอย่างทั้งหมู วัว เป็ด ไก่ จนกระทั่งเดินทางไปซื้อโคขุนทางภาคอีสานและรู้จักไก่งวงเป็นครั้งแรกจึงซื้อมาลองทำอาหารรับประทานในราคาตัวละ 3,000 กว่าบาท ราคาขายที่ค่อนข้างสูงทำให้เธอมองเห็นช่องทางการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นมา
“เริ่มสนใจเลี้ยงเพราะราคาสูง ได้พันธุ์มาจากมหาสารคามซื้อกลับมา 20 ตัว รุ่นแรกทดลองเลี้ยงปรากฏว่าเลี้ยงได้…ไม่ตาย..โตไว ตอนนั้นเลี้ยงไก่บ้านไว้ด้วยกัน อายุไล่ ๆ กัน พอไก่งวงอายุ 6 เดือนไก่บ้านวิ่งอยู่ใต้ท้องไก่งวงเลย น้ำหนักแตกต่างกันมาก ไก่งวงหนัก 6 กิโลกรัม ไก่บ้านเพิ่งจะ 1.8 -2 กิโลกรัม”
เมื่อเห็นระยะเวลาการเลี้ยงและอัตราการแลกเนื้อที่แตกต่างกันคุณปูจึงตัดสินเลิกเลี้ยงไก่ไทยและหันมาเลี้ยงไก่งวงเป็นหลัก แต่พอปีพ.ศ. 2559-2560 เจอปัญหาขายไม่ได้ เนื่องจากรอขายลูกค้าต่างชาติอย่างเดียว ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านเกิดไข้หวัดนกระบาดไม่สามารถเคลื่อนย้ายไก่เป็นได้ จึงทำประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้จักมากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่ยั่งยืน ไม่มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกทำให้สามารถขายได้ตลอดทั้งปี
ไก่งวง อินทรีย์ เลี้ยงแบบอิสระ
ไก่งวงนิยมเลี้ยงปล่อยอิสระในแปลง ในสวนที่มีพื้นที่กว้างขวาง ลักษณะนิสัยที่ชอบจิกกินหญ้าจึงเลี้ยงในสวนผลไม้กว้าง ๆ ที่ปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี ในระบบเลี้ยงปล่อยจัดพื้นที่ให้ไก่งวง 1 ตัว ต่อพื้นที่ 5 ตารางเมตร แต่ถ้าเลี้ยงในคอกสัดส่วน 3 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ไก่งวงที่เลี้ยงคอกกักขังเนื้อไก่จะมีไขมันเยอะเพราะไก่งวงจะกินแล้วนอน แต่หากเลี้ยงปล่อย (Free-range) จะได้ออกกำลังกาย ตากแดด แสดงลักษณะทางธรรมชาติ เช่น คลุกฝุ่น เนื้อจึงแน่นกว่า เปรียบเทียบเหมือนไก่บ้านกับไก่ฟาร์มที่ให้เนื้อสัมผัสแตกต่างกัน
“ถ้าปล่อยในแปลงที่มีหญ้าเยอะๆเราแทบไม่ต้องให้อาหารเลย ถ้าเป็นไก่รุ่นสามารถปล่อยลงแปลงทั้งวันได้ พอถึงเวลาค่อยเรียกกลับคอก แต่แม่พันธุ์จะปล่อยออกแปลงเป็นเวลาไม่อย่างนั้นจะแอบไปไข่ในสวน โดยปล่อยช่วงเย็นหรือเช้า ให้เขาลงแปลงได้กินหญ้า วิ่งเล่นแล้วก็ค่อยกลับเข้าคอก”

เลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติปลอดสารเคมี
ช่วงแรกที่ไก่งวงยังเล็กให้อาหารสำเร็จโปรตีนสูง 21 % เพียงอย่างเดียวพออายุได้ 2.5-3 เดือนจึงเริ่มผสมอาหารเองค่อย ๆ เพิ่มรำ ปลายข้าว จนกระทั่งลดอาหารสำเร็จลง ส่วนแม่พันธุ์ที่ต้องการเก็บไข่ฟักจะไม่ให้อาหารสำเร็จเพราะทำให้แม่พันธุ์อ้วน และปริมาณไข่น้อย
“ไก่งวงเลี้ยงไม่ยาก โตไว กินอะไรก็ได้ นำรำมาผสมกับปลายข้าว ต้นกล้วย หญ้าเนเปียบด และอาหารสำเร็จรูปบ้าง ผู้เลี้ยงทั่วไปอาจจะใช้หญ้าต้นกล้วยผสมกับอาหารไก่อย่างละครึ่งสามารถประหยัดอาหารลงได้ 50 % ถ้ามีวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น กากถั่วเหลือง กากมะพร้าว หรือผักตบชวานำมาตัดรากทิ้ง เอามาผสมก็จะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายได้มาก”
ขนาดและอายุไก่งวง
ไก่งวงเริ่มจับขายได้ตอนอายุ 4-6 เดือน ตัวเมียอายุ 4 เดือน เนื้อจะเริ่มเต็ม ส่วนตัวผู้ 5-7 เดือนจนถึง 1 ปี ไก่งวงพันธุ์ไทยน้ำหนักมากสุดประมาณ 15 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์ลูกผสมตัวผู้น้ำหนักมากถึง 20-30 กิโลกรัม ส่วนตัวเมีย 7-10 กิโลกรัม
“ช่วงแรกๆเราเลี้ยงพันธุ์ไทยอย่างเดียวตอนหลังได้รับการสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์จากปศุสัตว์ เข้าโครงการไทยนิยมยั่งยืนได้ซื้อพันธุ์สัตว์จากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ปีกกบินทร์บุรี ปัจจุบันจึงมีพันธุ์อเมริกันบรอนซ์กับพันธุ์ลูกผสม พันธุ์อเมริกันบรอนซ์เป็นไก่โครงสร้างใหญ่ข้อเสียคือเลี้ยงนาน 6-7 เดือนขึ้นไปเนื้อถึงจะเต็ม ถ้าพันธุ์ลูกผสมอายุแค่ 4-5 เดือนน้ำหนักเท่าพันธุ์อเมริกันบรอนซ์อายุ 6-7 เดือน แต่ลักษณะเนื้อแตกต่างกัน ความอร่อยก็แตกต่างกัน ส่วนตัวพี่ชอบเนื้อของสายพันธุ์อเมริกันลักษณะเนื้อสีชมพูถึงแดง อร่อย เหนียวและหวานกว่า ถ้าพันธุ์ลูกผสมเนื้อจะเป็นสีขาว แต่มีเนื้อมากกว่า”
สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่ : baanpet