https://baanpet.com/

โรคหมอนรองกระดูกในสัตว์

โรคหมอนรองกระดูกในสัตว์
โรคหมอนรองกระดูกในสัตว์ ไขสันหลังจัดเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญและอ่อนไหวได้ง่ายในร่างกาย หากได้รับความเสียหายเซลล์ประสาทจะไม่สามารถสร้างใหม่ แต่จะถูกทดแทนด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

การบาดเจ็บของไขสันหลังมักจะไม่สามารถกลับมาทำงานปกติแบบเดิมได้ ดังนั้นเพื่อปกป้องไขสันหลัง ไขสันหลังจึงอยู่ภายในบริเวณกระดูกสันหลังที่มีกระดูกรอบข้างปกคลุมในทุกด้าน ยกเว้นบริเวณที่มีรอยต่อของกระดูกสันหลัง บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของหมอนรองกระดูก (Intervertebral Discs) ที่มีลักษณะคล้ายยางนิ่ม ๆ ซึ่งกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกช่วยให้บริเวณหลังสามารถขยับขึ้นลงได้หรือไปด้านข้างได้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับไขสันหลัง โรคหมอนรองกระดูก

หมอนรองกระดูกประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนด้านนอก เรียกว่า Annulus Fibrosus ทำหน้าที่คล้ายกับเปลือกหอย ซึ่งมีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เหนียวทำให้สามารถปกป้องและรักษาส่วนด้านในไว้ได้ โดยส่วนด้านใน เรียกว่า Nucleus Pulposus มีลักษณะนุ่มกว่าด้านนอก เนื้อสัมผัสคล้ายกับเยลลี่
หมอนรองกระดูกส่วนปลายทั้งสองข้างมีลักษณะบางเรียว ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ด้านใต้ของไขสันหลัง การเกิด โรคหมอนรองกระดูก มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของหมอนรองกระดูกส่วนด้านนอก หรือเกิดการฉีกขาดทำให้ส่วนด้านในทะลักออกมา เรียกว่า slipped disc หรือ herniated disc ซึ่งทำให้สัตว์แสดงอาการปวด สูญเสียการทำงานของขาจนทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ หรือถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ และบางครั้งรุนแรงจนถึงขั้นไม่มีความรู้สึกที่ขาได้
ความผิดปกติของหมอนรองกระดูกสามารถเกิดได้หลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งกระดูกสันหลังส่วนคอ (cervical), ส่วนอกและเอว (thoraco–lumbar region), หรือตำแหน่งเอวต่อก้นกบ (lumbosacral)
ลักษณะการกดทับมีอยู่ 2 แบบได้แก่
  1. การกดทับแบบ Hansen Type I หรือแบบที่มีการแตกของ Annulus Fibrosus จนเนื้อเยื่อของ Nucleus Pulposus ทะลักขึ้นมากดไขสันหลัง โรคนี้พบได้บ่อยในสุนัขกลุ่ม chondrodystrophoid คือกลุ่มพันธุ์ที่ขาสั้นและหลังยาว เช่น ดัชชุน, ปักกิ่ง, ชิสุ, บาสเซต ฮาวน์, อเมริกัน คอร์กเกอร์ สแปเนียล, เฟรนช์ บูลด็อก หรือบีเกิล เป็นต้น และส่วนใหญ่เป็นสุนัขพันธุ์ดัชชุนถึง 45-70% โดยปกติจะเกิดความผิดปกติในช่วงอายุระหว่าง 3-6 ปี นอกจากนี้ยังสามารถพบในสุนัขพันธ์อื่นที่ไม่ใช่สายพันธุ์ chondrodystrophoid ได้ เช่น พูเดิ้ล ชิวาวา ปอมเมอร์เรเนียน เป็นต้น อาการเด่นของการเกิดหมอนรองกระดูกชนิดนี้คือจะเกิดขึ้นแบบฉียบพลันทันที เช่น ขณะกระโดด หรือขึ้นลงบันได เป็นต้น
  2. การกดทับแบบ Hansen Type II คือ มีการเสื่อมที่ไม่ได้มีการแตกของ Annulus Fibrosus แต่ไม่สามารถคงรูปได้ก็จะเกิดการปลิ้นขึ้นมากดไขสันหลังของ Annulus Fibrosus พบสุนัขในกลุ่ม Nonchondrodystrophoid หรือกลุ่มสุนัขขายาว ขนาดใหญ่ เช่น ลาบราดอร์, เยอรมัน เชพเพิร์ด เป็นต้น สามารถเกิดได้ที่อายุระหว่าง 5 ถึง 12 ปี โดยตำแหน่งที่มักเกิดคือตำแหน่งตรงกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว (thoraco–lumbar region) คิดเป็น 65% และกระดูกสันหลังตำแหน่งคอ (cervical region) 18% อาการเด่นของการเกิดหมอนรองกระดูกชนิดนี้คือจะเกิดขึ้นแบบเรื้อรังค่อยเป็นค่อยไป ใช้ระยะเวลานาน เช่น มีอาการลุกลำบากอยู่ช่วงระยะแรกและตามมาด้วยลุกเดินอีกไม่ได้ เป็นต้น
ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้เอง ซึ่งถือเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม เมื่อส่วนนอกของหมอนรองกระดูกมีการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ส่วนที่อยู่ตรงกลางแตกปลิ้นออกมาด้านนอก เนื่องจากส่วนของหมอนรองกระดูกอยู่ติดกับด้านล่างของไขสันหลัง เมื่อส่วนด้านในไหลออกมาด้านนอก ทำให้เกิดแรงดันไปกดส่วนของไขสันหลัง และเนื่องจากไขสันหลังอยู่ภายในร่องของกระดูกสันหลังทำให้ไม่สามารถขยับเขยื้อนหนีแรงกดดังกล่าวได้ ทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า Pinched หรือ การจิกกด
ลักษณะอาการที่พบ
เนื่องจากแรงที่กดบนไขสันหลังตลอดเวลา ทำให้สุนัขมีความเจ็บปวดร่วมกับอาจมีปัญหาเรื่องการส่งกระแสประสาท ส่งผลให้เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตบางส่วนหรืออัมพาตอย่างสมบูรณ์ อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ร่วมด้วยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่เกิดความผิดปกติ
ตัวอย่างอาการที่พบได้ เช่น
– มีการเจ็บบริเวณคอหรือหลัง ทำให้มีปัญหาเรื่องการหมุน หรือเลี้ยวตามมา
– ขาหลังทำงานไม่สัมพันธ์กัน คือ ขาหลังหนึ่งข้างไขว้สลับมาอีกฝั่งในขณะเดิน
– สูญเสียการทำงานของขาหลังทั้งสองข้าง ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมปัสสาวะร่วมด้วย
– การรับรู้ความเจ็บปวดหายไป มักเกิดในกรณีที่ไขสันหลังได้รับความเสียหายรุนแรง ซึ่งการพยากรณ์โรคอยู่ในระดับแย่
หมอนรองกระดูกรอบนอกจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และการทะลักของส่วนด้านในเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่นกัน อาจนานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ ซึ่งในระยะเริ่มแรกสุนัขจะเริ่มมีอาการเจ็บและไม่ค่อยอยากขยับตัวโดยเฉพาะในกรณีของ Hansen type II แต่ในสุนัขบางตัวความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้สุนัขจากที่เดินปกติเกิดอัมพาตทั้ง 4 ขาได้ภายในไม่ถึง 1 ชั่วโมงในรายที่เกิดการกดทับแบบ Hansen type I
แนวทางการวินิจฉัย (Diagnosis)
การตรวจวินิจฉัยอาศัยการตรวจร่างกายทั่วไปร่วมกับการตรวจทางระบบประสาท และการซักประวัติสัตว์ป่วยก็เป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากการตรวจร่างกายแล้วการวินิจฉัยจากการถ่ายภาพทางรังสีที่ตำแหน่งของกระดูกสันหลังสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ นอกจากนี้สามารถทำ myelogram คือ การฉีดสารทึบรังสีเข้าไปบริเวณรอบ ๆ ไขสันหลัง หลังจากนั้นทำการถ่ายภาพทางรังสี เพื่อดูตำแหน่งที่ผิดปกติของหมอนรองกระดูกที่เห็นได้จากสีในภาพเอกซเรย์ หรือถ้าเป็นโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลสัตว์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ระบบประสาทจะใช้ MRI (magnetic resonance imaging) เป็นการสร้างภาพเสมือนจริงของอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ข้อดีของการใช้ MRI คือสามารถเห็นหมอนรองกระดูกที่ขึ้นไปกดทับไขสันหลังได้โดยไม่ต้องฉีดสี ที่อาจจะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการชักหลังการฉีดได้
แนวทางการรักษา (Treatment)
การรักษาขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค โดยสามารถแบ่งระดับความรุนแรง (paretic grade) ของ โรคหมอนรองกระดูก ได้ ดังนี้
– ระดับที่ 1: ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในบริเวณที่มีการกดทับ
– ระดับที่ 2: ลดการรับรู้ตำแหน่งของขา การก้าวย่างไม่สัมพันธ์กันและมีขาอ่อนแรงร่วมด้วย แต่ยังสามารถลุกเดินได้อยู่
– ระดับที่ 3: อัมพาต ไม่รับรู้ตำแหน่งขาและไม่สามารถลุกเดินได้
– ระดับที่ 4: อัมพาต เริ่มสูญเสียการควบคุมปัสสาวะ แต่ยังรับรู้ถึงความรู้สึกบริเวณปลายเท้าอยู่
– ระดับที่ 5: อัมพาต ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะและอุจจาระได้ และไม่รับรู้ความรู้สึกบริเวณปลายเท้า
สุนัขที่อยู่ในระดับ 1 และ 2 นิยมรักษาด้วยการให้ยาแก้อักเสบเพื่อช่วยลดปวด ร่วมกับการกายภาพบำบัดต่าง ๆ เช่น เลเซอร์ อัลตราซาวด์ ลู่วิ่งใต้น้ำ ฝังเข็ม เป็นต้น สำหรับระดับที่ 3 สัตวแพทย์อาจจะเริ่มด้วยการรักษาทางยาและกายภาพบำบัดก่อน แต่ถ้า 7 วันผ่านไปแล้ว สัตว์ยังแสดงอาการเจ็บ หรือไม่สามารถขยับตัวอาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดต่อไป
ในสุนัขที่ป่วยในระดับ 4 และ 5 ควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ยิ่งสุนัขได้รับการผ่าตัดเร็วเท่าไหร่ยิ่งเพิ่มโอกาสในสุนัขกลับมาปกติได้มากขึ้นเท่านั้น ในทางทฤษฏีสุนัขควรได้รับการผ่าตัดทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากสัตว์แสดงอาการอัมพาต
การดูแลหลังการผ่าตัด (Postoperative treatment)
สุนัขส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ใน 7-10 วันหลังผ่าตัด แต่จะมีการนัดมาเพื่อตรวจร่างกายและตัดไหม และควรมีการให้ยาแก้อักเสบ เพื่อลดปวดให้สุนัขกินทุกวันจนกว่าจะนัดมาตรวจร่างกาย นอกจากนี้ควรมีการกายภาพบำบัดให้สุนัขหลังจากได้รับการผ่าตัด เช่น
– บีบนวดกระเพาะปัสสาวะ 3-4 ครั้งต่อวัน
– กายภาพบำบัดบริเวณกล้ามเนื้อด้วยการนวดเพื่อลดแรงตึงและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ
– จำกัดการออกกำลังกาย ให้สุนัขอยู่ในกรงอย่างน้อย 4 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่อาจตามมาได้ เช่น น้ำหนักลด, หมุนหรือขยับตัวโดยที่ไม่ใช้คอและกระโดดเล่นลดน้อยลง
อาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด (Postoperative complication)
– การติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด
– สุนัขบางตัวเกิดปัญหาหมอนรองกระดูกผิดปกติได้หลายตำแหน่งในตลอดช่วงชีวิต
– สุนัขบางตัวยังคงแสดงอาการเดินขาหลังไม่สัมพันธ์กันหรืออ่อนแรงหลังจากได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว
การพยากรณ์โรค (Prognosis)
ในสุนัขที่แสดงอาการทางประสาทเพียงเล็กน้อย และสามารถควบคุมความเจ็บปวดได้ด้วยยาลดอักเสบการพยากรณ์โรคจะอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ส่วนในกรณีที่แสดงอาการรุนแรงมีการกดบริเวณไขสันหลังรุนแรงแต่ยังสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ การรักษาโรคด้วยการผ่าตัดการพยากรณ์โรคอยู่ในระดับปานกลางถึงดี และสำหรับการพยากรณ์โรคที่ลดลงเมื่อสุนัขได้รับการผ่าตัด คือ สุนัขสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกก่อนที่จะทำการรักษา

ติดตามรีวิวสัตว์เลี้ยง : รีวิวสัตว์เลี้ยง

สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่  : baanpet