หอยมุกน้ำจืด สร้างเม็ดเงิน

หอยมุกน้ำจืด จัดเป็นหอยประเภทสองฝา มีขนาดใหญ่ เปลือกหนา และภายในมีความแวววาวของชั้นมุก (nacreous layer) ซึ่ง นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศน์ทางน้ำแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น การนำเนื้อมาใช้เป็นอาหารของคนและสัตว์ การนำเปลือกมาทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องใช้ เครื่องเรือนประดับมุก นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในการผลิตไข่มุกน้ำจืด เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอัญมณี เครื่องสำอาง และยา (Binhe, 1984)
ในประเทศไทยได้มีการนำเปลือกหอยมุกน้ำจืดมาใช้ประโยชน์เป็นเวลานานและยังมีรายงานว่าได้มีการรวบรวมเปลือกหอยมุกน้ำจืด ชนิด Chamberlainia hainesiana จาก ประเทศไทย ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำไปใช้ทำเป็นแกน (nucleus) สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไข่มุกเป็นจำนวนมากจนเกรงว่าจะสูญพันธุ์ (Brandt,1974)
ในปี 2528 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ีได้เริ่มรวบรวมหอยมุกน้ำจืดที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ชนิดC. hainesiana และ Hyriopsis (Limnoscapha) myersiana มาทำการศึกษาเพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อทดแทนทรัพยากรที่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืดประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2535 โดยสามารถเพาะพันธุ์หอยชนิด C. hainesiana ได้ (อรภา และคณะ, 2537) ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี สามารถเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืด H. (L.) myersiana ได้ อีกชนิดหนึ่งซึ่งหอยทั้งสองชนิดสามารถเจริญเติบโตจนได้ขนาดที่นำมาเลี้ยงและ ผลิตไข่มุกน้ำจืดได้แล้ว ส่วนหนึ่งของหอยที่เพาะพันธุ์ได้มีการปล่อยกลับคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อคงความสมดุลให้ระบบนิเวศน์ต่อไป อย่างไรก็ตามยังคงต้องการข้อมูลจากการวิจัยเพิ่มเติมอีกมากในการปรับปรุงขึ้นตอน ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการเพาะพันธุ์หอยมุกและการผลิตไข่มุกจากหอย มุกน้ำจืด

สภาพแวดล้อมบริเวณแหล่งอาศัย
จากรายงาน พบว่าหอยมุกน้ำจืด ทั้ง 2 ชนิด พบในแม่น้ำเท่านั้นไม่พบในแหล่งน้ำนิ่ง โดยสภาพเนื้อดินที่พื้นห้องน้ำบริเวณแหล่งอาศัยของหอยมุก ส่วนใหญ่เป็นแบบดินร่วนปนทราย
ชีววิทยาการสืบพันธุ์และการเพาะพันธุ์ของหอยมุกน้ำจืด
1.วงจรชีวิต
หอย มุกน้ำจืดมีชีววิทยาการสืบพันธุ์และวงจรชีวิตเช่นเดียวกับหอยสองฝาน้ำจืด ทั่วไปกล่าวคือ มีการสืบพันธุ์แบบแยกเพศ ในฤดูผสมพันธุ์หอยเพศเมียจะได้รับเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ที่เข้ามาทางท่อน้ำ เข้า (inhalent siphon) ไข่จะได้รับการปฏิสนธิและถูกเก็บรักษาไว้ในเหงือกซึ่งพองออกเป็นที่เก็บไข่ ซึ่งเรียกว่า brood chambers หรือ marsupia ไข่หอยที่ได้รับการปฏิสนธิและเก็บรักษาไว้ใน marsupia นี้จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนกลายเป็นตัวอ่อนระยะ glochidia มีลักษณะเป็นฝา 2 ฝา ขยับฝาปิดเปิดได้ และมีเส้นใยยาวสำหรับยึดเกาะปลาซึ่งจะทำหน้าที่เป็น host ให้ตัวอ่อนระยะ glochidia เกาะอาศัย โดยการสร้าง cyst ล้อมรอบ จากนั้น encysted glochidia จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่อไปกลายเป็นตัวอ่อนระยะ juvenile จึงจะหลุดจาก host ลงมาอาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยดำรงชีวิตหากินแบบอิสระ (free living form) และเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป
2.ขนาดเจริญพันธุ์
หอยมุกน้ำจืดชนิด H. (L.) myersiana ขนาดที่เล็กที่สุดที่พบ marsupia ในแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี มีความเปลือก 7.92 เซนติเมตร น้ำหนัก 26 กรัม ส่วนหอยมุกน้ำจืดชนิด C. hainesiana ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีนั้น มีการตรวจพบ marsupia เมื่ออายุ 2 ปี มีขนาดความยาวเปลือก 15.12 เซนติเมตร น้ำหนัก 390 กรัม
การเกิด marsupia ของหอยทั้งสองชนิดดังกล่าว สามารถตรวจพบได้เฉพาะเหงือกชั้นนอกของทั้งสองข้าง (outer demibranches) แต่หอยมุกน้ำจืดชนิด Hyriopsis (L.) desowitzi ทั้งเหงือกชั้นในและนอกสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็น marsupia เพื่อเก็บรักษาไข่ที่จะได้รับปฏิสนธิแล้วได้
3.ฤดูสืบพันธุ์
ฤดูสืบพันธุ์ของหอยมุกน้ำจืดในประเทศไทยทั้งชนิด C. hainesiana และ H. (L.) myersiana จากรายงานหลายฉบับมีช่วงใกล้เคียง คือ ระหว่าง กันยายน – มีนาคม และพบว่าไข่หอย C. hainesiana และ H. (L.) myersiana มีระยะฟักไข่อยู่ระหว่าง 6-10 วัน และ 5-9 วัน ตามลำดับ โดยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังพบว่า การสร้าง marsupia ของหอยตัวเดียวกันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวใน 1 ฤดูกาลสืบพันธุ์ โดยพบว่าใน 1 ปี หอย C. hainesiana สามารถสร้าง marsupia ได้เฉลี่ย 10.50 ครั้ง ในขณะที่ H. (L.) myersiana สามารถสร้าง marsupia ได้เฉลี่ย 18.92 ครั้ง
4.ชนิดของปลาที่เป็น host
การเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ตั้งแต่ปี 2535 ได้เลือกใช้ปลานิล เป็น host แก่หอยมุกน้ำจืดทั้ง 2 ชนิด คือ C. hainesiana และ H. (L.) myersiana เนื่องจากมีความทนทานและเป็นชนิดปลาที่หาได้ง่ายจากโรงเพาะฟัก อย่างไรก็ตามพบว่าปลานิลที่เคยนำมาใช้ในการให้ตัวอ่อนระยะ glochidia เข้าเกาะอาศัยครั้งหนึ่งแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งในระยะเวลาห่างกัน 2 เดือน เนื่องจากปริมาณกลูโคสที่น้อยลงใน serum ปลาเป็นเหตุให้ลูกหอยระยะ glochidia ที่เข้าเกาะอาศัยปลานิลตัวเดียวกันเป็นครั้งที่ 2 ไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะ juvenile ได้ (ดารุณี, 2538)
การเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืดในประเทศไทย
ไข่มุกเป็นอัญมณีจากสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วยผลึกของสารประกอบ CaCO3 ที่เรียกว่า aragonite 82-86 % อินทรียสารจำพวกโปรตีนที่เรียกว่า conchiolin 10-14 % และน้ำ 2-4 % ไข่มุกมีความแข็ง (hardness) 3.5-4.5 และมีความถ่วงจำเพาะ (specific gravity) 2.7 (Ram,1997)
ประเภทไข่มุก
- ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearl)
เป็นไข่มุกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากการที่มีวัสดุแปลกปลอมพลัดเข้าไปอยู่ระหว่างชั้น mantle กับชั้น nacreous ของเปลือก หรืออยู่ในระหว่างเยื่อบุผิวของชั้น mantle ด้วยกันทำให้เกิดการระคายเคืองและหอยจะขับสารมุกออกมาคลุมวัสดุนั้นจนเกิดเป็นไข่มุกขึ้นเองตามธรรมชาติ
- ไข่มุกเลี้ยง (culture pearl)
จาก ความรู้ทางทฤษฎีในการเกิดไข่มุกได้นำมาสู่ขบวนการเพาะเลี้ยงไข่มุกโดย วิธีการนำวัสดุแปลกปลอมใส่เข้าไปในตัวหอยแล้วจึงนำหอยไปเลี้ยงต่อจนกว่าสาร มุกที่ขับออกมาจะมีความหนาจนได้ไข่มุกที่มีขนาดและความแวววาวสวยงามเป็นที่ ต้องการของตลาด ไข่มุกเลี้ยงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
2.1 ไข่มุกซีกและไข่มุกครึ่งวงกลม (hemispherical pearl หรือ half pearl)
ไข่มุกประเภทนี้ มีลักษณะเป็นครึ่งทรงกลมและมีด้านหนึ่งแบน เกิดจากการนำแกนกลาง (nucleus) ซึ่ง สามารถทำขึ้นได้จากวัสดุหลายชนิด เช่น เม็ดพลาสติก เม็ดแก้ว หรือ เปลือกหอยที่มีความหนา นำมากลึงให้เป็นรูปครึ่งทรงกลม แล้วนำด้านแบนของแกนกลางนี้ไปติดไว้กับเปลือกหอยด้านใน ดังนั้นแกนกลางที่ใส่เข้าไปก็จะอยู่ตรงกลางระหว่างแผ่น mantle กันชั้น nacreous ของ เปลือกหอย ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขับสารมุกมาเคลือบแกน ในที่สุดก็จะได้ไข่มุกซีกมีลักษณะเป็นครึ่งทรงกลมตามรูปร่างของแกนกลาง
2.2 ไข่มุกเดี่ยว (spherical pearl)
ไข่มุกเดี่ยวมีลักษณะที่แตกต่างไปจากไข่มุกซีก คือ จะไม่มีส่วนใดติดกับเปลือกหอย แบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภท คือ
– ไข่มุกแบบไม่มีแกน (non-nucleated pearl)
เป็นไข่มุกที่ได้จากผ่าตัดฝังชิ้นเนื้อ mantle ของหอยให้เนื้อเยื่อ (donor หรือ cell mussel) ลงไปในระหว่างชั้น inner กับ outer epidermis ของแผ่น mantle ของหอยรับเนื้อเยื่อ (recipient หรือ operation mussel) ชิ้น mantle จะขยายเซลล์เพิ่มขึ้นและกลายเป็นถุงไข่มุก (pearl sac) สารมุกจะถูกขับมาสะสมกันอยู่ภายในถุงไข่มุกจนกลายเป็นไข่มุกซึ่งจะมีรูปร่างหลายแบบ (irregular shape) วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการผ่าตัดเนื้อเยื่อเพื่อผลิตไข่มุกน้ำจืด
– ไข่มุกแบบมีแกน (nucleated pearl)
วิธีการผลิตไข่มุกประเภทนี้ มีการเพิ่มแกนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะกลมขนาดต่างๆ กัน ลงไปพร้อมกันชิ้น mantle ขณะ ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ สารมุกที่ถูกขับออกมาจะเคลือบแกนกลางที่อยู่ภายในถุงไข่มุก เกิดเป็นไข่มุกรูปร่างกลมสวยงามซึ่งจะได้ราคาแพง แต่วิธีในการผ่าตัดมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่า จึงต้องอาศัยความชำนาญและความละเอียดอ่อนในการผ่าตัดมาก การเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืดในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันมีรายงานในหอยมุกน้ำจืดเพียง 3 ชนิด ได้แก่ C. hainesiana, H. (L.) myersiana และ ชนิด H. (L.) desowitzi ไข่มุก น้ำจืดที่ได้จากการเพาะเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กาญจนบุรี เป็นไข่มุกแบบไม่มีแกน สีของไข่มุกที่ได้จะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของหอย และพบว่าชิ้น mantle ของ หอยให้เนื้อเยื่อที่นำมาตัดและฝังลงในหอยรับเนื้อเยื่อมีส่วนในการกำหนด สีของไข่มุกที่เกิดขึ้นสำหรับขนาดของหอยให้เนื้อเยื่อมีส่วนในการกำหนดสีของ ไข่มุกที่เกิดขึ้น สำหรับขนาดของหอยให้เนื้อเยื่อที่นำมาใช้นั้นจากการศึกษาในหอยมุกชนิด C. hainesiana พบว่าหอยที่มีความยาวเปลือก 13-14 เซนติเมตร มีความเหมาะสมกว่าขนาดยาว 18-19 เซนติเมตร (อรภา และสุวีณา, 2535) การผ่าตัดเพื่อฝังชิ้น mantle จาก หอยให้เนื้อเยื่อลงในหอยรับเนื้อเยื่อซึ่งจะนำไปเลี้ยงต่อจนกว่าจะได้ ไข่มุกที่มีขนาดตามความต้องการ โดยทั่วไปจะเป็นหอยชนิดเดียวกัน
ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืดยังไม่แพร่หลายไปสู่ภาคเอกชน ปัญหาและอุปสรรคที่มี ได้แก่
- ตลาด
ส่วน ใหญ่ไข่มุกน้ำจืดจะใช้ประโยชน์หลักในการทำยาและเครื่องสำอาง มีบางส่วนที่ใช้ทำเป็นเครื่องประดับ โดยราคาขึ้นกับคุณภาพและความสวยงามของไข่มุก ในปัจจุบันได้มีบริษัทนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทผงไข่มุกและไข่มุกน้ำ เข้ามาในประเทศไทยด้วย ถึงแม้ว่าตลาดของผู้บริโภคยังอยู่ในวงแคบเนื่องจากมีราคาแพงและยังไม่เป็น ที่ยอมรับทั่วไป แต่ในประเทศจีนได้มีการศึกษาว่าไข่มุกมี amino acids 17 ชนิด และ mineral elements 8 ชนิด ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์จีน ว่ามีสรรพคุณในการทำให้ผิวพรรณสวยงาม บำรุงประสาทตา ช่วยให้หลับสนิท และหายอ่อนเพลีย ผงไข่มุกได้รับการขึ้นทะเบียนยาในหนังสือ “Pharmacopoeia of the Peoples Republic of China” ฉบับปี 1995 ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการมากที่สุดในจีน (Oriental Jewelry CO Ltd.,1995) ดังนั้นน่าจะได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อเป็นการรับรองความปลอดภัยของผู้บริโภค และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับไข่มุกน้ำจืดที่ผลิตได้ในประเทศไทย นอกเหนือจากการขายเป็นเครื่องประดับแต่เพียงอย่างเดียวซึ่งจะเป็นรองรับผล ผลิต และการขยายตลาด หากมีผู้สนใจประกอบการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืดในอนาคต
- พันธุ์หอยมุก
ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี เป็นหน่วยงานเดียวที่มีการเพาะพันธุ์และเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะนำมาผ่าตัดฝังเนื้อเยื่อได้งานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตและอัตรา รอดตายของลูกหอยระยะ juvenile เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีอัตราการตายสูงในช่วง 2-3 สัปดาห์ หลังหลุดจากปลาที่เป็น host นอก จากนี้ควรจะได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ ในการผลิตไข่มุกน้ำจืดจากหอยกาบน้ำจืดชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะชนิดที่อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งและสามารถเลี้ยงในบ่อดินได้และเพื่อลด ข้อจำกัดของสถานที่ที่ใช้ในการเลี้ยงหอยรับเนื้อเยื่อ เนื่องจากหอยมุกทั้ง 3 ชนิดที่ใช้ผลิตมุกอยู่ในขณะนี้อาศัยและเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในแหล่งน้ำไหล นอกจากนี้ควรมีการศึกษาสภาพแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงหอยมุกแต่ ละชนิดเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรแหล่งน้ำที่มีอยู่มากในประเทศให้เต็มศักยภาพ รวมทั้งการเพาะพันธุ์หอยมุกที่มีคุณภาพดีเนื่องจากจะมีผลต่อคุณภาพของไข่มุก ที่เกิดขึ้น
- เทคนิคการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ
คุณภาพ ของไข่มุกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของหอยมุกที่นำมาใช้เทคนิคการผ่าตัดสภาพแหล่งเลี้ยงและ การจัดการ แต่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ (Guang, 1993) ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคความชำนาญและความอดทนในการฝึกฝน ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีบุคลากรดังกล่าวอยู่เลย
สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่ : baanpet