ปลาแซลมอน

ปลาแซลมอน (อังกฤษ: Salmon อ่านว่า /ˈsæmən/ ) เป็นชื่อสามัญของปลาที่มีก้านครีบหลายสปีชีส์ในวงศ์ Salmonidae (วงศ์ปลาแซลมอน) ปลาอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกันรวมทั้งปลาเทราต์ (trout), ปลาชาร์, ปลาสกุล Thymallus และปลาในวงศ์ย่อย Coregoninae คือ freshwater whitefish เป็นปลาที่กระจายพันธุ์อยู่ในซีกโลกเหนือ คือ อเมริกาเหนือ, อะแลสกา, ไซบีเรีย, ยุโรปเหนือ, เอเชียเหนือ และเอเชียตะวันออก ปลาแซลมอนเป็นปลาท้องถิ่นของแม่น้ำต่าง ๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ (สกุล Salmo) และในมหาสมุทรแปซิฟิก (สกุล Oncorhynchus) ปลาหลายสปีชีส์ได้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำซึ่งไม่ใช่ที่อยู่เดิมต่าง ๆ รวมทั้งเกรตเลกส์ในอเมริกาเหนือและปาตาโกเนียในอเมริกาใต้ ปลาเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางในฟารม์ทั่วโลก
ปลาผสมพันธุ์ในน้ำจืดแต่ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร มีปลาเพียงส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ ปกติแล้วปลาจะว่ายจากทะเลสู่แม่น้ำเพื่อวางไข่ (anadromous) คือลูกปลาจะออกจากไข่ในน้ำจืด อพยพไปอยู่ในมหาสมุทร แล้วกลับไปยังน้ำจืดเพื่อสืบพันธุ์ แต่ก็มีกลุ่มประชากรของปลาหลายสปีชีส์ที่อยู่ในน้ำจืดตลอดชีวิต นิทานพื้นบ้านเล่าว่าปลาจะกลับไปสู่จุดที่มันออกจากไข่เพื่อวางไข่ และงานศึกษาติดตามปลาก็พบว่านี้จริงโดยมาก ปลาส่วนหนึ่งในช่วงวางไข่ (salmon run) อาจหลงไปยังย่านน้ำจืดอื่นเพื่อวางไข่ เปอร์เซ็นต์ที่หลงขึ้นอยู่กับพันธุ์แซลมอน พฤติกรรมว่ายกลับบ้านปรากฏว่าอาศัยความจำเกี่ยวกับกลิ่น (ซึ่งอาจเป็นกลิ่นเฉพาะของแม่น้ำที่เกิด) ปลามีมาตั้งแต่ยุคนีโอจีน
คำว่า “แซลมอน” มาจากคำภาษาละตินว่า salmo ซึ่งก็อาจมาจากคำว่า salire ซึ่งแปลว่า “กระโดด”
ลักษณะ ปลาแซลมอน
ส่วนมากลำตัวมีสีเงินวาว มีจุดสีดำที่บริเวณด้านบนของลำตัวเหนือเส้นข้างลำตัว ลักษณะอย่างอื่นคล้ายปลาทั่วไปไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอกหรือลักษณะภายใน
สปีชีส์
สปีชีส์สำคัญทางเศรษฐกิจ 9 สปีชีส์อยู่ในสองสกุล สกุล Salmo รวมปลาแซลมอนแอตแลนติก ซึ่งพบในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ โดยมีปลาหลายพันธุ์ที่มีชื่อสามัญว่า ปลาเทราต์ ส่วนสกุล Oncorhynchus มีสปีชีส์ 8 สปีชีส์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเท่านั้น โดยรวมเรียกว่าปลาแซลมอนแปซิฟิก ส่วนปลาแซลมอนชินูกซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นแปซิฟิกตอนเหนือได้นำไปปล่อยในทั้งประเทศนิวซีแลนด์และปาตาโกเนียในซีกโลกใต้ อนึ่ง ปลาแซลมอนโคโฮ (Oncorhynchus kisutch) ปลาแซลมอนซ็อกอายซึ่งเป็นปลาน้ำจืด และปลาแซลมอนแอตแลนติกก็นำไปปล่อยที่ปาตาโกเนียเช่นกัน

ไข่
ไข่ (Eggs) เริ่มต้นที่ปลาแซลมอนตัวเมีย ไปวางไข่ไว้ที่ก้อนกรวดในแหล่งน้ำจืด โดยมันจะใช้หางขุดก้อนกรวดเป็นหลุมเพื่อวางไข่ ส่วนปลาแซลมอนตัวผู้จะคอยอยู่ข้าง ๆ ตัวเมียเสมอ เพื่อคอยระวังอันตรายและปล่อยตัวอสุจิให้ปฏิสนธิกับไข่ พวกมันจะทำรังสำหรับวางไข่เป็นจำนวนมาก ปลาแซลมอนตัวเมียจะวางไข่ทีละ 2,000 ถึง 10,000 ฟอง แล้วแต่สายพันธุ์ ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายหลังวางไข่เป็นเวลาประมาณ 3-4 เดือน
ตัวอ่อน
ตัวอ่อน (Alevin) ปลาที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะเรียกว่า “ตัวอ่อน” ตัวอ่อนของแซลมอนไม่สามารถว่ายน้ำได้ ทำได้แค่เพียงใช้หางสะบัดเพื่อเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ลูกรังที่มันอยู่เท่านั้น ตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกมานั้นยาวเพียงแค่นิ้วครึ่ง นอกจากนั้นแต่ละตัวยังจะมีถุงไข่ติดอยู่ด้วย
ลูกอ่อน
ลูกอ่อน (Fry) เมื่อตัวอ่อนได้รับอาหารจากถุงไข่ทำให้มันมองดูคล้ายปลาแซลมอนตัวเล็ก ๆ ระยะนี้จะเรียกว่า “ลูกอ่อน” ระยะเวลาของการเป็นลูกอ่อนนี้จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สายพันธุ์ ชีนุค เริ่มว่ายน้ำกลับสู่ทะเลแล้ว ในขณะที่ สายพันธ์ โคโฮ จะใช้เวลาอยู่ในแหล่งน้ำจืดนานเป็นปีก่อนว่ายสู่ทะเล มีปลาแซลมอนบางตัวใช้ชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่มันเกิดเป็นเวลานานกว่า 3 ปี จึงว่ายลงไปสู่ทะเล
ลูกปลาแซลมอน
ลูกปลาแซลมอน (Smolt) ปลาแซลมอนที่อยู่ในระยะนี้จะออกจากแหล่งน้ำจืดและมุ่งสู่ทะเล โดยมากแล้วจะเป็นปลาที่มีอายุประมาณ 2 ปี ความยาวมากกว่า 5 นิ้ว ปลาแซลมอนในระยะนี้จะมีลำตัวออกสีเงิน ปลาแซลมอนในระยะนี้จะใช้เวลาส่วนมากอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่น้ำจืดและน้ำเค็มต่อกัน ในขณะที่มันกำลังปรับตัวเข้าสู่น้ำเค็ม บริเวณปากแม่น้ำนี้สำคัญต่อปลาแซลมอนมากเนื่องจากเป็นแหล่งอาหารสำคัญเพื่อการเจริญเติบโต
ตัวเต็มวัย
ตัวเต็มวัย (Adult salmon) ปลาจะถือว่าเต็มวัยก็ต่อเมื่อมันกลับสู่ท้องทะเลเรียบร้อยแล้ว พวกมันจะใช้เวลาอยู่ในท้องทะเลตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี อาหารของปลาแซลมอนก็ได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก และปลาตัวเล็ก ๆ ปลาแซลมอนจะอยู่ในท้องทะเลห่างจากแหล่งน้ำจืดที่มันเกิดเป็นระยะทางกว่า 2,000 ไมล์ และเมื่อมันโตเต็มที่มันก็จะว่ายกลับไปสู่แหล่งน้ำจืดอีกครั้งเพื่อวางไข่
วางไข่
วางไข่ (Spawning) เมื่อปลาแซลมอนว่ายไปสู่แหล่งน้ำจืดเพื่อวางไข่ มันจะหยุดกินอาหาร และมันจะตายภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่วางไข่เรียบร้อยแล้ว ปลาแซลมอนที่ตายไปก็จะกลายเป็นสารอาหารอยู่ในแหล่งน้ำจืดต่อไป
ติดตามรีวิวสัตว์เลี้ยง : รีวิวสัตว์เลี้ยง
สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่ : baanpet