ปลากัด แสนสวย

สมัยก่อนคนไทยนิยมนำปลากัดมากัดกัน เพราะความดุดันและสนุกสนาน แม้ในสมัยนี้ยังมีสถานที่จัดแข่งอยู่ แต่ปลากัดก็เป็นที่นิยมในฐานะปลาสวยงามที่เลี้ยงง่าย คนทุกเพศทุกวัยเลี้ยงได้ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่
หากคุณกำลังมองหาสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่าย เลี้ยงที่ไหนก็ได้ เราขอแนะนำปลากัดเป็นตัวเลือก ช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีร้านขายปลากัดออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ส่งขายปลากัดทั่วไทย สะดวก รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเมื่อจะเลี้ยงทั้งที เราก็ควรรู้วิธีเลี้ยงที่ถูกต้องด้วย
คนที่จะมาให้คำแนะนำในการเลี้ยงปลากัดคือ อธิสรรค์ พุ่มชูศรี เมื่อหลายสิบปีก่อน เขาทดลองผสมสีปลากัดผสมแล้วผสมอีก จนได้ปลากัดสีเดี่ยวทั้งหมด 9 สี มีพันธุกรรมที่นิ่งแล้ว จนเป็นต้นแบบปลากัดสวยงามของประเทศไทย และเขายังพาปลากัดไทยไปเปิดตลาดต่างประเทศด้วย เขาเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลากัดที่เก่งที่สุดในประเทศ และยังคงถ่ายทอดความรู้ปลากัดให้กับคนรุ่นใหม่

สำหรับมือใหม่ที่กำลังมองหาปลากัดสักตัว คุณอธิสรรค์แนะนำว่า ปลากัดที่ดีและแข็งแรง จะไม่มีแผลตามตัว ครีบหางจะไม่ห่อ ไม่เหี่ยว หรืออาจจะห่อบ้างบางเวลา ปลากัดที่ดีจะไปว่ายน้ำอวดโฉม ถ้าอยู่เฉยๆ จมลงก้นขวด เป็นอันว่าใช้ไม่ได้
“ผู้เลี้ยงมือใหม่จะเริ่มเลี้ยงปลากัดสีอะไรก็ได้ สายพันธุ์ใดก็ได้ เอามาเลี้ยงก่อนให้เรารู้จักว่าเราจะเลี้ยงเขายังไง พอเลี้ยงไปเลี้ยงมา มันจะเกิดความรัก เดี๋ยวเราก็จะอยากได้ปลากัดเพิ่ม ต้องไปซื้อใหม่เรื่อย ๆ เลี้ยงสักสองสามตัว ก็มองหาขวดโหลสวยๆ มาใส่ ไม่มีใครเลี้ยงปลากัดตัวเดียวหรอก ต้องเลี้ยงหลายๆ ตัว ปลาได้อยู่เป็นเพื่อนกัน เวลาเรามองปลากัดก็รู้สึกเพลิน” อธิสรรค์เล่าอย่างอารมณ์ดี ซึ่งก็เป็นความจริงที่คนเลี้ยงปลากัดไม่อาจปฏิเสธได้ ปลาแต่ละตัวนั้นช่างน่าหลงใหล เลี้ยงไปแล้วก็อยากเลี้ยงเพิ่ม
ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม มีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้โดยใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากเป็นแบบทีนอยด์ ปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด
ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งตื้น ๆ ขนาดเล็กของที่ราบลุ่มทุกภาคส่วนในประเทศไทยเท่านั้น สถานะปัจจุบันในธรรมชาติถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและสารเคมีที่ตกค้าง
มีพฤติกรรมชอบอยู่ตัวเดียวในอาณาบริเวณแคบ ๆ เพราะดุร้ายก้าวร้าวมากในปลาชนิดเดียวกัน ตัวผู้เมื่อพบกันจะพองตัว พองเหงือก เบ่งสีเข้ากัดกัน ซึ่งในบางครั้งอาจกัดได้จนถึงตาย เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายก่อหวอดติดกับวัสดุต่าง ๆ เหนือผิวน้ำ ไข่ใช้เวลาฟัก 2 วัน โดยที่ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และตัวอ่อนเอง โดยไม่ให้ปลาตัวเมียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ป็นปลาที่ชาวไทยรู้จักเป็นอย่างดีมาแต่โบราณ โดยปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติมักเรียกติดปากว่า “ปลากัดทุ่ง” หรือ “ปลากัดลูกทุ่ง” หรือ “ปลากัดป่า” จากพฤติกรรมที่ชอบกัดกันเองแบบนี้ ทำให้นิยมนำมาเลี้ยงใช้สำหรับกัดต่อสู้กันเป็นการพนันชนิดหนึ่งของชาวไทย และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และความสามารถในชั้นเชิงการกัดจนถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยและเป็นที่รับรู้ของชาวต่างชาติในชื่อ “Siamese fighting fish”
ติดตามรีวิวสัตว์เลี้ยง : รีวิวสัตว์เลี้ยง
สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่ FB : baanpet