จระเข้ (Crocodile)

จระเข้ (Crocodile) คือ จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจครึ่งน้ำครึ่งบกชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าต่อตัวสูง เนื่องจาก อวัยวะสามารถนำมาจำหน่าย และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยเฉพาะหนัง เนื้อ และเลือดที่มีราคาสูงมาก
สถานะ
จระเข้ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประกอบด้วยจระเข้น้ำจืดไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ที่ห้ามล่า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามนำเข้า และส่งออก แต่เป็นสัตว์ในรายชื่อสัตว์ป่าที่สามารถเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ (เฉพาะจระเข้น้ำจืดไทย และจระเข้น้ำเค็ม) ตามมาตรา 17 และ18 ของกฎหมายดังกล่าว
ลักษณะทั่วไป
1. ผิวหนัง และลำตัว
จระเข้เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็น ลำตัวมีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่มาก นํ้าหนักประมาณ 60-90 กรัม ความยาวลำตัวประมาณ 25-30 เซนติเมตร มีผิวหนังที่แข็งแรงคล้ายเกราะหุ้ม ผิวหนังส่วนหัวเชื่อมติดกับกะโหลก ส่วนท้ายทอยมีปุ่มเกล็ดแข็งที่ใช้จำแนกชนิดจระเข้ได้ (จำนวน และการเรียงตัว) ผิวหนังส่วนหลังเป็นเกล็ดหนารูปสี่เหลี่ยม บางเกล็ดมีกระดูกแข็งใต้เกล็ด เกล็ดท้องมีขนาดเล็กกว่าเกล็ดหลัง และส่วนมากไม่มีกระดูกใ่ต้เกล็ด ส่วนหลังมีสันเกล็ด ยาวตลอดแนวลำตัวจนถึงเกล็ดที่ 10 ของเกล็ดหาง หลังจากนั้นจะเป็นเกล็ดเดี่ยวเรียงต่อกันจนถึงปลายหาปาก และภายในปาก
2.ปากจระเข้ มีลักษณะยาว ปลายปากเชิดงอนขึ้น สามารถอ้าปากได้กว้างมาก เนื่องจากมีพังผืดที่สามารถยืดหดได้กว้าง ขากรรไกรหรือกรามมีความแข็งแรง แรงในการงับประมาณ 545 กิโลกรัม (1,200 ปอนด์/1 ตารางนิ้ว)
ฟันมีลักษณะเป็นกรวยอยู่บนขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง แบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดฟันขนาดใหญ่ และชุดฟันขนาดเล็ก แต่ฟันไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ใช้เพียงงับอาหารเท่านั้น
ลิ้นจระเข้มีลักษณะหนา และกว้างมาก มีสีครีมอมชมพู อยู่บริเวณพื้นของขากรรไกรล่าง เคลื่อนขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันนํ้าไหลเข้าสู่ลำคอในขณะอ้าปากจมูก
3.จมูกจระเข้ มีลักษณะยาวตามความยาวของปาก ใช้สำหรับหายใจ และดมกลิ่น มีรูจมูก 2 รู ปิดเปิดได้ ป้องกันไม่ให้นํ้าเข้าจมูก ขณะลอยน้ำ รูจมูกจะโผล่พ้นน้ำ
4.ตาจระเข้ อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าหน้า แต่อยู่ในระดับเดียวกันกับจมูก เมื่อจระเข้ลอยน้ำ ส่วนจมูกและตาจะโผล่เหนือนํ้า ลูกตาในเวลากลางวันมีสีดำ จะเหลืองในเวลากลางคืน มีหนังตา และเยื่อบางคอยปิดเปิดลูกตา ทำให้สามารถลืมตาในนํ้าได้ดี
5.หูจระเข้ มี 2 ข้าง อยู่บริเวณส่วนหลังของตา แต่ละข้างจะมีเนื้อเยื่อบางๆ กั้นควบคุมการเปิดปิดรูหู
6.หางจระเข้ มีลักษณะคล้ายใบพาย ยาว และแบนในแนวตั้ง มีเกล็ด 2 แถว เรียงจากลำตัวบริเวณขาหลังจนถึงกลางหาง จากนั้น จะเป็นเกล็ดแถวเดียวตลอดหาง ซึ่งหางจระเข้มีกล้ามเนื้อที่พลังมากใช้ในการว่ายนํ้าหรือโบกสะบัดไปมา ใช้กวาดใบไม้ใบหญ้ามาทำ รังวางไข่ และใช้เป็นอาวุธฟาดคู่ต่อสู้
7.ขาทั้ง 4 ข้าง ขนาดเล็ก ไม่สมดุลกับลำตัว ขามีเกล็ดขนาดเล็กๆ นิ้วมีพังผืด และมีเล็บยาวแข็งแรง ขาหน้ามีนิ้วเท้าข้างละ 5 นิ้ว ระหว่างนิ้วไม่มีพังผืดยึด ขาหลัง 2 ขา มีนิ้วเท้าข้างละ 4 นิ้ว ระหว่างนิ้วมีพังผืดยึด มีกำลังมากกว่าขาหน้า ใช้ยันตัว การเดินหรือการปีนป่ายที่สูง
8.อวัยวะภายใน และระบบย่อยอาหาร จระเข้ เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีหัวใจครบทั้ง 4 ห้อง และมีกระบังลมกั้นระหว่างทรวงอกกับท้องเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งแตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานพวกอื่นๆ ที่มีหัวใจเพียง 3 ห้อง หัวใจจระเข้สามารถแยกเลือดดี และเลือดเสียออกจากกันได้ดี ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ มีอาหารหลักคือเนื้อ การกินจะไม่เคี้ยว แต่จะกัดฉีกเหยื่อเป็นชิ้นๆ แล้วกลืนลงลำคอ มีระบบการย่อยอาหารที่สามารถย่อยกระดูกสัตว์ต่างๆได้

การดำรงชีพ และการสืบพันธุ์
รัง และการหาอาหาร
จระเข้จะทำรังในช่วงวางไข่เท่านั้น ตามบริเวณโพรงไม้หรือกอหญ้ารกข้างแม่น้ำหรือแหล่งน้ำ ด้วยการกวาดหรือพับต้นไม้มากองรวมกันเป็นกองสูง ส่วนในระยะที่ไม่มีการวางไข่ ทั้งตัวผู้ตัวเมียจะอาศัยอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่มีต้นไม้หรือหญ้ารกสำหรับหลบซ่อนตัว
อาหารของจระเข้จะเป็นสัตว์ทุกชนิดที่หาได้ อาทิ ปลา นก หนู รวมถึงสัตว์ใหญ่ชนิดต่างๆ
การผสมพันธุ์ และออกลูก
ในฤดูผสมพันธุ์ จระเข้หลั่งสารที่ขับกลิ่นจากต่อมกลิ่นบริเวณโคนกรามล่าง และทวารหนัก กลิ่นนี้จะติดตามแหล่งที่อยู่ และบริเวณหาอาหารใกล้เคียงเพื่อเรียกคู่ของตนมาผสมพันธุ์กัน มีฤดูกาลผสมพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม โดยจระเข้น้ำจืดตัวเมียที่เข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้จะมีอายุประมาณตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ส่วนจระเข้น้ำเค็มตัวเมียจะมีอายุประมาณ 12-15 ปี ขึ้นไป และจะวางไข่ได้จนถึงอายุ 25 ปี ส่วนตัวผู้จะเริ่มเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้ประมาณอายุ 12 ปี ขึ้นไป อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย 1:1 เมื่อผสมพันธุ์เสร็จจะเริ่มวางไข่หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน
ก่อนระยะวางไข่ 2-5 วัน แม่จระเข้จะหาแหล่งวางไข่ และสร้างรังสำหรับวางไข่ ซึ่งจะใช้ใบไม้หรือกอหญ้าปกทับไข่ไว้ ไข่มีสีครีม อัตราออกไข่ของจระเข้น้ำจืดเฉลี่ยที่ 20-40 ฟอง ขนาดไข่ประมาณ 73 x 48 มิลลิเมตร หนักประมาณ 110 กรัม ระยะไข่ฟักที่ 68-72 วันหลังวางไข่ ส่วนจระเข้น้ำเค็มเฉลี่ยที่ 30-50 ฟอง ขนาดไข่ประมาณ 79 x 50 มิลลิเมตร หนักประมาณ 120 กรัม ระยะไข่ฟักที่ 78-85 วันหลังวางไข่ เมื่อฝังออกจากไข่ ตัวอ่อนมีรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ แต่มีขนาดเล็กกว่า และสีคลํ้ากว่า สามารถเดิน และว่ายน้ำเองได้ทันทีหลังฟักออก (ผ่องพรรณ และแจ่มจันทร์, 2533)(1)
จระเข้ที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด
1. จระเข้น้ำจืดไทย (Freshwater หรือ Siamese Crocodile)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylus siamensis Schneider พบมากที่สุดในประเทศไทย
- จระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้ปากแม่น้ำ (Saltwater หรือ Estaurine Crocodile)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Crocodylus porosus Schneider พบตามแหล่งน้ำเค็มและน้ำกร่อย - ตะโขง, จระเข้ปากกระทุงเหว (False Ghavial หรือ Malayan Gharial)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tomistoma schlegelii พบเฉพาะในจังหวัดภาคใต้
สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่ : baanpet