กวางรูซ่า

กวางรูซ่า สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่มาแรงแซงนกกระจอกเทศ เนื้ออร่อยไขมันต่ำ หนังมีประโยชน์ เขาอ่อนบำรุงกำลังทางเพศ ขายได้ราคาดีเป็นที่นิยม วิธีการเลี้ยงไม่ยากกินง่ายโตเร็ว โรคภัยไข้เจ็บน้อย หากเกษตรกรเบื่อสัตว์อื่น อยากลองของใหม่ กำเงินไว้ 3 แสนบาทแล้วตาม “ฟาร์มโซน” มาดูวิธีการเลี้ยงได้เลย
ในขณะที่หลายหน่วยงานกำลังทำการวิจัย ถึงความคุ้มค่าทางการตลาด ความเป็นไปได้ของการเลี้ยงนกกระจอกเทศอยู่ สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เรียกได้ว่า ได้รับการจับตามองไม่แพ้กัน และคาดว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ เพราะผลผลิตดี มีมูลค่าการการตลาดสูง นอกจากเนื้อของมันแล้ว ราคาอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายบางส่วนขายได้ราคาดี มีผลผลิตให้อย่างต่อเนื่อง สัตว์ที่ว่านี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะได้รู้จักแล้ว เพราะสื่อต่างๆ รวมถึง “ฟาร์มโซน” เคยนำเสนอเรื่องราวไปบางส่วนแล้ว (อ่านได้ที่นี่) มันมีชื่อว่า “กวางรูซ่า”
แต่ครั้งนี้ “ฟาร์มโซน” จะมาเจาะลึกถึง วิธีการเลี้ยง การจัดทำรูปแบบฟาร์ม อาหาร ตลอดจนเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับความรู้ และประโยชน์ โดยนำความรู้ที่ “ฟาร์มโซน” ได้ไปศึกษาหาความรู้ต่าง ๆ มาจาก ท๊อปแลนด์ฟาร์ม แอนด์ คันทรี่โฮม ศูนย์เพาะพันธุ์กวางรูซ่าของเอกชน ที่ได้ดำเนินการเลี้ยงกวาง มาตั้งแต่ปี 2537 และมีการทดลองเพาะพันธุ์เรื่อยมาจนชำนาญ ในปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ขาย ให้กับผู้สนใจแล้วหลายราย
เริ่มแรกเราต้องทำความรู้จักกับกวางรูซ่ากันก่อน
กวางรูซ่าเป็นกวางขนาดกลาง นำพันธุ์มาจากออสเตรเลีย ไม่ได้เป็นสัตว์สงวนของไทย ตามพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าแต่อย่างใด เป็นสัตว์ในเขตร้อน สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมของเมืองไทยได้ ซึ่งส่วนต่าง ๆ ในร่างกายกวางนั้น สามารถขายได้แทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หนังที่มีความเหนียวสูง มาทำเสื้อผ้า หาง เอ็น และอวัยวะเพศผู้ ใช้เป็นส่วนที่เข้ายาจีน มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย รวมไปถึงเขาอ่อนที่มีราคาแพง เป็นอาหารที่นิยม โดยเชื่อกันว่าจะเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย แก้ไขอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
สำหรับสถานที่ที่จะเลี้ยงกวางนั้น เท่าที่ได้สัมผัสกับฟาร์มที่นี่แล้ว มีข้อสังเกตว่าคอกกวางของที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นระบบระเบียบมาก เพราะมีการสร้างคอกและรั้วอย่างมิดชิด มีความคงทนแข็งแรง โดยใช้เสาเหล็กสูงประมาณ 2 เมตร ปักให้ห่างกันประมาณ 2 เมตร ด้านล่างก่ออิฐบล็อก 1-2 ก้อน ขึงลวดตาข่ายถักให้ตึง มีชาแลนสีดำปิดทับตาข่ายด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง ภายในคอกสะอาด และแห้ง มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงากวางอยู่ ซึ่งจำนวนกวางกับพื้นที่มีความเหมาะสมดี
วันชัย ศิริธรรม เจ้าของฟาร์มเล่าให้ “ฟาร์มโซน” ฟังว่าการสร้างคอกนั้น สามารถใช้วัสดุที่ง่าย ๆ กว่าที่ทำอยู่ก็ได้ แต่ต้องมีความแข็งแรง ป้องกันการรบกวนจากสิ่งต่าง ๆ ภายนอกได้เป็นอย่างดี เพราะกวางเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย และที่สำคัญ ต้องระวังสัตว์คู่อริของกวาง อย่างสุนัขให้ดี เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ไม่สามารถเลี้ยงด้วยกันได้ นอกจากนี้ ควรสร้างคอกให้อยู่บนเนินหรือที่ดอน อย่าให้น้ำขัง ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาอยู่บ้างจะดีมาก สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยงนั้น อาจสร้างจากปลอกซีเมนต์วางไว้เป็นจุด ๆ ไม่กว้างและลึกมาก เพราะลูกกวางอาจจะตกลงไปตายได้ รางใส่หญ้าสร้างให้เป็นตะแกรงห่าง ๆ เป็นรูปวงกลม ทำให้กวางเข้ามาล้อมกินได้โดยรอบ

เคล็ดลับของการทำคอก
วันชัยกล่าวว่า ควรทำคอกแบ่งเป็นสองส่วน มีประตูปิดเปิดถึงกันได้ เพื่อสะดวกในการเข้าไปจัดการกับกวาง ทำซองแคบ ๆ ไว้สำหรับไล่ต้อนกวาง เพื่อจัดการงานต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวมันเช่น การติดเบอร์หู ตัดเขา ฉีดวัคซีนถ่ายพยาธิ รวมไปถึงการขนย้ายกวาง สำหรับกวางที่เจ็บป่วย หรือต้องการดูแลเป็นพิเศษ อาจทำเป็นเพิงหมาแหงนเล็ก ๆ ไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของคอก เพื่อแยกขังต่างหาก สำหรับเกร็ดอีกอย่างของการทำคอกกวาง คือ ควรทำคอกให้เป็นลักษณะโค้งโดยรอบ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดมุมอับ เพราะนิสัยของกวางนั้น ถ้าเข้ามุมอับแล้วจะวิ่งชนกระแทก และเกิดอันตรายจนบาดเจ็บได้
สำหรับอาหารของกวาง
หลายคนที่คิดว่ากินยากนั้น ต้องเปลี่ยนความคิดเสียแล้ว เพราะเจ้ากวางรูซ่านี้เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งหญ้า และใบไม้แทบทุกชนิด แต่ที่ชอบเห็นจะเป็น ใบมะขามเทศ สะเดา ใบไผ่ ใบมะม่วง ใบขนุน กระถิน ขี้เหล็ก นนทรี จามจุรี มะเดื่อ เต็ง รัง ประดู่ ซึ่งหากมีพื้นที่เพียงพอ ควรที่จะหาพื้นที่ในการปลูกหญ้าเสียเลย โดยใช้หญ้าพันธุ์ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นาหญ้านี้หากดูแลให้ดี ให้ปุ๋ยให้น้ำอย่างถูกต้อง จะได้หญ้าคุณภาพเพื่อเลี้ยงกวาง โดยไม่ต้องพึ่งอาหารเสริมเลยก็ได้
นอกเหนือจากอาหารสดแล้ว วันชัย ได้ให้คำแนะนำว่า กวางที่จะเลี้ยงเป็นธุรกิจนั้น ต้องมีการเสริมอาหารแร่ธาตุให้กวางบ้าง ซึ่งก็หาไม่ยาก เพราะใช้แร่ธาตุชนิดเดียวกับโค นำมาวางไว้บนพื้น ทุบให้แตกก่อน เพื่อให้กวางมาเลียกิน แต่ไม่ควรแขวนไว้ทั้งก้อน เพราะไม่เหมือนกับการกินอาหารในธรรมชาติ กวางจะไม่มากิน ส่วนน้ำนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะกวางจะกินตลอดเวลา ผู้เลี้ยงจึงต้องหมั่นล้าง ทำความสะอาดอ่างน้ำเป็นประจำ ทางด้านอาหารข้น จะให้ก็ต่อเมื่อหญ้าที่ให้มีคุณภาพไม่ดีพอ และอาหารข้นมีไขมัน กวางจะไม่สามารถย่อยได้ จึงควรเลือกให้เหมาะสม
โรคและการป้องกัน
กวางเป็นสัตว์ที่มีความต้านทานโรคสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นเลย การดูแลในเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพกวาง ต้องเริ่มตั้งแต่การสุขาภิบาลฟาร์มให้ดี ซึ่ง “ฟาร์มโซน” เห็นว่าคอกของท๊อปแลนด์ฟาร์ม จะสะอาดและแห้งอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเลี้ยงกวาง รางหญ้า และบ่อให้น้ำสะอาดอยู่เสมอ มีพนักงานทำการเก็บกวาดมูล และเศษหญ้าที่เหลือทุกวัน โดยได้นำมูลไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม่รอบ ๆ ฟาร์ม ได้ประโยชน์อีกต่อ และการป้องกันโรคอีกอย่างหนึ่ง คือ การถ่ายพยาธิ ซึ่งควรทำประมาณปีละ 1 – 2 ครั้ง
การถ่ายพยาธินั้นต้องให้กวางอดน้ำสัก 1 วัน จากนั้นจึงผสมยาถ่ายพยาธิลงไปในน้ำ โดยคำนวณปริมาณอย่าให้มากเกินไป สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค หากสภาพท้องที่ที่ใช้เลี้ยงกวาง อยู่ห่างจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ก็แทบไม่ต้องให้วัคซีนอะไรกวางเลย หรือหากไม่ได้ไปหาพืชอาหาร จากภายนอกฟาร์มเข้ามา ก็ไม่จำเป็นเช่นกัน เพราะโอกาสการเกิดโรคระบาดมีน้อยมาก แต่ถ้ามีการระบาดของโรคในรอบ ๆ ฟาร์ม ก็ควรจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ด้วย โดยใช้วัคซีนชนิดเดียวกับที่ใช้กับแพะ แกะ
การวางแผนผสมพันธุ์
“ฟาร์มโซน” ได้มีโอกาสพบกับนายสัตว์แพทย์บุญญวัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการปศุสัตว์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาและนักวิชาการ ซึ่งได้แนะนำเกี่ยวกับการวางแผนผสมพันธุ์ ว่า การจะผสมพันธุ์กวางเพื่อการพาณิชย์นั้น จะต้องเลือกพ่อพันธุ์ที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป หรือซื้อกวางเพศผู้ ที่มีอายุแก่กว่าเพศเมีย 1 ปี เนื่องจากกวางตัวผู้ จะพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ส่วนตัวเมียจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ เมื่ออายุประมาณ 13 เดือน
สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่ : baanpet