https://baanpet.com/

กระซู่ แรดสุมาตรา

กระซู่-แรดสุมาตรา

กระซู่ แรดสุมาตรา (อังกฤษ: Sumatran rhinoceros) หรือ แรดขน (hairy rhinoceros) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicerorhinus sumatrensis เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคี่จำพวกแรด กระซู่เป็นแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และเป็นแรดเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Dicerorhinus มีลักษณะเด่นคือมี นอ 2 นอ เหมือนแรดแอฟริกา โดยนอจะไม่ตั้งยาวขึ้นมาเหมือนแรดชวา นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง โดยทั่วไปยาว 15-25 ซม. ลำตัวมีขนหยาบและยาวปกคลุม เมื่อโตเต็มที่สูง 120–145 ซม. จรดหัวไหล่ ยาว 250 ซม. และมีน้ำหนัก 500-800 กก.

กระซู่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ และ ป่าเมฆในประเทศอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ ม่ ลาว ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลเสฉวน ปัจจุบัน กระซู่ถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ เหลือสังคมประชากรเพียงหกแหล่งในป่า มีสี่แหล่งในสุมาตรา หนึ่งแหล่งในบอร์เนียว และอีกหนึ่งแหล่งในมาเลเซียตะวันตก จำนวนกระซู่ในปัจจุบันยากที่จะประมาณการได้เพราะเป็นสัตว์สันโดษที่มีพิสัยกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง แต่คาดว่าเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว สาเหตุอันดับแรกของการลดลงของจำนวนประชากรคือการล่าเอานอซึ่งมีค่ามากในการแพทย์แผนจีน ขายได้ถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมในตลาดมืด นอกจากนี้ยังถูกคุกคามถิ่นอาศัยจากอุตสาหกรรมป่าไม้และเกษตรกรรม

กระซู่เป็นสัตว์สันโดษมักอยู่เพียงลำพังตัวเดียวยกเว้นช่วงจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกอ่อน กระซู่เป็นแรดที่เปล่งเสียงร้องมากที่สุด การสื่อสารของกระซู่ยังรวมถึงการทำร่องรอยด้วยเท้า บิดงอไม้หนุ่มเป็นรูปแบบต่าง ๆ และการถ่ายมูลและละอองเยี่ยว มีการศึกษาในกระซู่มากกว่าแรดชวาซึ่งเป็นสัตว์สันโดษเหมือนกัน เพราะโปรแกรมที่นำกระซู่ 40 ตัวมาสู่กรงเลี้ยงที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สปีชีส์นี้ไว้ ในตอนแรกโปรแกรมนี้ถือว่าประสบความล้มเหลว มีกระซู่ตายจำนวนมากและไม่มีการให้กำเนิดลูกกระซู่เลยเกือบ 20 ปี การสูญเสียกระซู่ในโปรแกรมมากกว่าการสูญเสียกระซู่ในป่าเสียอีก

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียได้เริ่มการสำรวจจำนวนกระซู่อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โดยวางแผนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีกระซู่ตัวผู้และตัวเมียตัวสุดท้ายของมาเลเซียตายในเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ตามลำดับ และรัฐบาลมาเลเซียประกาศให้เป็นสัตว์สูญพันธุ์จากประเทศ ปัจจุบันกระซู่หลงเหลืออยู่เฉพาะในอินโดนีเซียเท่านั้น โดยมีเหลือน้อยกว่า 80 ตัว และหากอ้างอิงจากข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลก ตัวเลขที่แท้จริงเหลือเพียง 30 ตัว

อนุกรมวิธานและชื่อ

ตามที่มีการบันทึกในเอกสาร ในปี พ.ศ. 2336 มีการยิงกระซู่ได้ที่บริเวณห่างจากฟอร์ตมาร์ลโบโร (Fort Marlborough) 16 กิโลเมตร ใกล้กับชายฝั่งด้านตะวันตกของสุมาตรา โจเซฟ แบงส์ (Joseph Banks) นักธรรมชาติวิทยาซึ่งขณะนั้นเป็นนายกของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอนได้รับภาพวาดและรายละเอียดของกระซู่ และได้ตีพิมพ์เอกสารบนพื้นฐานของตัวอย่างในปีนั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2357 กระซู่จึงได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย โยฮัน ฟิชเชอร์ ฟ็อน วัลท์ไฮม์ (Johann Fischer von Waldheim) ชาวเยอรมัน นักวิทยาศาสตร์และภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ดาร์วินสเตตแห่งมอสโก ประเทศรัสเซีย

กระซู่-แรดสุมาตรา

ชื่อ Dicerorhinus sumatrensis มาจากคำในภาษากรีก di (δι แปลว่า “สอง”) cero (κέρας แปลว่า “เขา หรือ นอ”) และ rhinos (ρινος แปลว่า “จมูก“) Sumatrensis มาจากสุมาตรา เกาะในประเทศอินโดนีเซียเป็นที่พบกระซู่เป็นครั้งแรก เริ่มแรกคาโรลัส ลินเนียสจำแนกแรดทั้งหมดอยู่ในสกุล Rhinoceros ดังนั้นกระซู่จึงจำแนกเป็น Rhinoceros sumatrensis ในปี พ.ศ. 2371 จอชัว บรุกส์ (Joshua Brookes) พิจารณาว่ากระซู่มีสองนอควรมีสกุลที่ต่างจากสกุล Rhinoceros ซึ่งเป็นแรดนอเดียว เขาจึงตั้งชื่อสกุลใหม่ว่า Didermocerus ในปี พ.ศ. 2384 ค็อนสตันทีน วิลเฮ็ล์ม ลัมแบร์ท โกลเกอร์ (Constantin Wilhelm Lambert Gloger) ได้เสนอชื่อเป็น Dicerorhinus ในปี พ.ศ. 2411 จอห์น เอ็ดเวิร์ด เกรย์ (John Edward Gray) เสนอชื่อเป็น Ceratorhinus โดยปกติแล้วจะนำชื่อเก่าสุดมาใช้ แต่เพราะกฎเกณฑ์ที่กำหนดในปี พ.ศ. 2520 โดยคณะกรรมการระบบชื่ออนุกรมวิธานสัตว์สากล ชื่อสกุลของกระซู่จึงเป็น Dicerorhinus

กระซู่มีสามสปีชีส์ย่อย:

  • D.s. sumatrensis หรือ แรดสุมาตราตะวันตก มีเหลืออยู่ราว 75-85 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่พบอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Bukit Barisan Selatan และ Gunung Leuser บนเกาะสุมาตรา ปัจจัยคุกคามหลักของสปีชีส์ย่อยนี้คือการสูญเสียถิ่นอาศัยและการดักจับอย่างผิดกฎหมาย มีความแตกต่างทางพันธุกรรมเล็กน้อยระหว่างแรดสุมาตราตะวันตกและตะวันออก กระซู่ในทางมาเลเซียตะวันตกมีอีกชื่อหนึ่งคือ D.s. niger แต่ภายหลังพบว่าเป็นสปีชีส์ย่อยเดียวกับกระซู่ทางตะวันตกของสุมาตรา
  • D.s. harrissoni หรือ แรดสุมาตราตะวันออก หรือ แรดบอร์เนียว พบตลอดทั้งเกาะบอร์เนียว ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว เหลือเพียง 3 ตัวในที่เลี้ยง เป็นตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมียอีก 2 ตัว ซึ่งทั้งสามตัวนี้ไม่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ ตัวเมียทั้งคู่ (ชื่อ Puntung and Iman) มีสุขภาพที่ไม่ดี และไม่พร้อมที่จะตั้งท้อง ส่วนตัวผู้เพียงตัวเดียว (ชื่อ Tam) มีอัตราการสร้างอสุจิที่ต่ำและอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ไม่มีการยืนยันว่าพบแรดบอร์เนียวในรัฐซาราวักและกาลีมันตันชื่อของสปีชีส์ย่อยนี้ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่ ทอม แฮร์ริสัน (Tom Harrisson) ผู้ซึ่งทำงานในด้านสัตววิทยาและมานุษยวิทยาในบอร์เนียวอย่างยาวนานในคริสต์ทศวรรษ 1960 แรดบอร์เนียวมีขนาดเล็กกว่าอีกสองสปีชีส์ย่อย
  • D.s. lasiotis หรือ แรดสุมาตราเหนือ เป็นสปีชีส์ย่อยเดียวที่มีการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดียและประเทศบังกลาเทศ แต่ได้ประกาศว่ามีการสูญพันธุ์จากประเทศเหล่านั้นไปแล้ว มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ามีประชากรกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังเหลือรอดในประเทศพม่าและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก็ไม่อำนวยให้ทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ชื่อ lasiotis มาจากภาษากรีกเพื่อแสดงถึงลักษณะ”หูเต็มไปด้วยขน” จากการศึกษาในภายหลังพบว่าขนที่หูไม่ได้ยาวไปกว่ากระซู่สปีชีส์ย่อยอื่นเลย แต่ D.s. lasiotis ยังคงเป็นสปีชีส์ย่อยอยู่ก็เพราะมีขนาดใหญ่กว่าสปีชีส์ย่อยอื่น

วิวัฒนาการ

บรรพบุรุษของแรดได้วิวัฒนาการแยกตัวออกจากสัตว์กีบคี่อื่นครั้งแรกในสมัยตอนต้นยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้นมา (Eocene) การเปรียบเทียบทางไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) แสดงว่าบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันแยกตัวจากบรรพบุรุษของม้าราว ๆ 50 ล้านปีมาแล้ว ในวงศ์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แรดปรากฏขึ้นครั้งแรกในตอนปลายยุคอีโอซีนในทวีปยูเรเชีย และบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์จากเอเชียในยุคไมโอซีน (Miocene)

กระซู่มีลักษณะที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษสมัยไมโอซีนน้อยที่สุดในบรรดาแรดด้วยกัน ในการศึกษาหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยาในอายุซากดึกดำบรรพ์สกุล Dicerorhinus อยู่ในตอนต้นยุคไมโอซีนหรือประมาณ 23–16 ล้านปีมาแล้ว ข้อมูลทางโมเลกุลแสดงว่า Dicerorhinus แยกจากสปีชีส์อื่นย้อนไปไกลถึง 25.9 ± 1.9 ล้านปี มีสมมุติฐานสามข้อที่ความสัมพันธ์ระหว่างกระซู่กับแรดชนิดอื่น ข้อหนึ่งกระซู่เป็นญาติใกล้ชิดกับแรดขาวและแรดดำหลักฐานก็คือแรดทั้งสองชนิดมีสองนอ กลุ่มที่สอง นักอนุกรมอื่น ๆ คิดว่ากระซู่มีลักษณะคล้ายคลึงกับชนิดที่เป็นพี่น้องคือแรดชวาเพราะการกระจายพันธุ์ซ้อนทับกันมาก กลุ่มสุดท้ายที่เพิ่งมีการวิเคราะห์เมื่อเร็ว ๆ นี้เสนอว่าแรดแอฟริกาสองชนิด แรดเอเชียสองชนิด และกระซู่ แสดงให้เห็นถึงเชื้อสายที่แยกเป็นสามสายเมื่อประมาณ 25.9 ล้านปีมาแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่ชัดเจนเหมือนดังที่แยกไว้ในตอนแรก

เพราะมีลักษณะคล้ายกัน จึงเชื่อว่ากระซู่เป็นญาติใกล้ชนิดกับแรดขนยาว (Coelodonta antiquitatis) แรดขนยาวซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะที่มีขนยาว พบครั้งแรกที่ประเทศจีนในยุคไพลสโตซีนตอนปลาย (Pleistocene) กระจายตัวอยู่ในทวีปยูเรเชียจากเกาหลีถึงสเปน แรดขนยาวอยู่รอดจนถึงปลายยุคน้ำแข็งเหมือนกับช้างแมมมอธขนยาว ทั้งหมดสูญพันธุ์ไปเมื่อ 10,000 ปีก่อน เมื่อแม้การศึกษาเชิงสัณฐานวิทยาจะมีข้อสงสัยในความใกล้ชิดแต่การวิเคราะห์ทางโมเลกุลเมื่อเร็ว ๆ นี้ยืนยันว่าทั้งสองชนิดเป็นพี่น้องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมีซากดึกดำบรรพ์หลายชิ้นได้รับการระบุว่าเป็นสมาชิกของ Dicerorhinus แต่ก็ไม่มีสปีชีส์ใหม่ในสกุลนี้

ติดตามรีวิวสัตว์เลี้ยง : รีวิวสัตว์เลี้ยง

สามารถติดตามความน่ารักของสัตว์เลี้ยงต่อไปได้ที่  : baanpet